Friday, November 04, 2005

Eid Mubarak (1)

Eid Mubarak

ถึง เพื่อนๆ ที่รัก
ก่อนอื่นต้องขอกล่าวคำว่า Eid Mubarak ซึ่งมีความหมายว่า สุขสันต์เนื่องในวันอีด เพื่อนๆ อาจจะงงว่าวันอีดคือวันอะไร ก่อนอื่นต้องขออฅธิบายให้เพื่อนๆ ฟังก่อนว่าวันอีด หรือ Eid แบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือ Eid Al Fitr ซึ่งคือวันเฉลิมฉลองสิ้นสุดเทศกาลการถือศีลอด และ Eid Al Adha ซึ่งคือวันเฉลิมฉลองให้แก่ชาวมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งวันอีดนี้ถือเป็นวันสำคัญของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ทั่วโลกยิ่งนัก และสำคัญยิ่งกว่าวันปีใหม่ (ทั้งของสากลและของอิสลามเสียอีก) ในวันอีดนี้ ชาวมุสลิมจะตื่นกันตั้งแต่เช้า โดยจะมีดการเตรียมอาหาร ขนมต่างๆ เพื่อจัดเลี้ยง ก่อนที่จะเดินทางไปที่มัสยิดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บางที่อาจจะมีการรวมตัวกันที่ลานใหญ่เพื่อประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ซึ่งแม้แต่กษัตริย์ก็จะมาร่วมสวดมนต์กับประชาชนทั่วไป จากที่ฉันมาอยู่ที่ประเทศนี้เป็นเวลากว่าสองปี ฉันค่อนข้างจะชื่นชมต่อ Commitment ที่เขามีต่อศาสนาเขายิ่งนัก ฉันคุยกับคนเหล่านี้พบว่า เขาสามารถที่จะตอบหรืออธิบายเกี่ยวกับหลักศาสนาและคำสอนของศาสดาได้อย่างชนิดที่ว่ารู้ลึกและรู้จริง ซึ่งทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาทางศาสนาควรปลูกฝังให้ประชาชนไทยได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาที่ตนนับถืออยู่อย่างถ่องแท้เสียที ไม่ใช่ว่า ปากบอกเป็นพุทธ ไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาได้ กลับเข้าเรื่องกันใหม่ หลังจากสวดแล้ว ก็จะออกเดินทางไปยังบ้านเพื่อนหรือคนรู้จักต่างๆ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง บางพวกอาจจะมีการออกไปเที่ยวกับครอบครัวยังต่าง จังหวัด

วันอีดปีนี้ในกาตาร์ตรงกับวันที่ 3 พฤศจิกายน (อ้อ ลืมบอกไปการกำหนดวันอีดนั้น เขาจะดูจากพระจันทร์นะ) สำหรับฉันในปีนี้นั้นค่อนข้างจะมีเวลาว่างพอสมควร เนื่องจากมีวันหยุดถึง 4 วัน ซึ่งแน่นอนฉันก็ต้องนั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบตามปกติ แต่หลังจากที่ได้คุยกับ “ท่อก” เกี่ยวกับเรื่องการเตรียมการสอบ ก่อนที่จะจบการสนทนาของเราสองคน ท่อกบอกกับฉันว่า อย่าลืมไปหาเหล้ากินบ้าง (ไม่น่าเชื่อว่าคำพูดนี้จะหลุดจากปากกะท่อกเลยเนอะ ว่ามั้ย) ฉันเก็บคำพูดนี้มาทำตาม เพียงแต่ไม่ได้ออกไปกินเหล้าเท่านั้นแหละ ฉันได้จัดแจงนัดหมายกับเพื่อนของฉันที่นี่สองคนว่าเราควรจะออกจากกรุงโดฮาไปสำรวจสถานที่ต่างๆ ในกาตาร์กันบ้าง และจุดมุ่งหมายของพวกเราในคราวนี้คือเหนือสุดของประเทศกาตาร์ ผู้ร่วมเดินทางกันไปในครั้งนี้ก็มีฉัน พี่ออง ซึ่งเป็นคนไทยที่เป็นวิศวกรอยู่บริษัทขุดเจาะน้ำมันชื่อดังของโลกแห่งหนึ่งที่มีสาขาในกาตาร์ เกด เพื่อนสาว (ที่มีอยู่ไม่กี่คน) ประจำกลุ่ม ทำงานอยู่สายการบินกาตาร์ และเพิ่มมาอีกคนคือ ไอมัน เพื่อนร่วมงานชาวอียิปต์ของพี่อองที่เพิ่งรู้จักกันแต่สนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว

เราออกเดินทางประมาณเที่ยงวันของวันที่ 3 พฤศจิกายน ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เราตัดสินใจที่จะไปเที่ยงเย็นกลับ โดยอุปกรณ์ที่เราขาดไม่ได้สำหรับการเดินทางในครั้งนี้เลย คือ กล้องถ่ายรูป พี่อองเป็นคนที่บ้ากล้องมาก และฉันก็ถือว่าเขาเป็นครูสอนเรื่องกล้องคนแรกของฉันเอง พวกเราค่อนข้างจะตื่นเต้นกับการเดินทางครั้งนี้พอสมควร เนื่องจากการที่เราอยู่กาตาร์กันมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรและได้เดินทางไปตามที่ต่างๆ เราก็รู้ว่าทางทิศใต้ของกาตาร์ติดกับชายแดนซาอุดิอาระเบีย (ซึ่งฉันก็เกือบจะโดนจับเนื่องจากตำรวจคิดว่าฉันจะหนีออกนอกประเทศ) ทางทิศตะวันออกนั้น แน่นอนก็คือกรุงโดฮา และหากเลาะชายฝั่งทางทิศตะวันออกและตะวันตกไปทางเหนือก็จะเจอเมืองอุตสาหกรรม Ras Laffan (Ras Laffan Industrial City) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีโครงการด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก และโครงการด้านพลังงานอื่นๆ ที่สำคัญอีกหลายโครงการ (ไว้วันหลังจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เพราะเวลาคุยเรื่องน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์พลังงานของที่นี่ทีไรอดน้อยใจกับราคาน้ำมันบ้านเราไม่ได้) และหากไปทางทิศใต้ก็จะเจอ Sand Dune ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในกาตาร์ และกำลังจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในมรดกโลก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของกาตาร์นั้นติดกับทะเล มีเมืองสำคัญชื่อว่า Dukhan และมีโรงงานต่างๆ มากมาย รวมถึงยังเป็นบ่อน้ำมันในทะเล (Off Shore) อีกด้วย

เนื้อที่หมดพอดี ยังไม่ได้เริ่มเดินทางกันเลย มัวแต่โม้ออกนอกเรื่องมากไปหน่อยเลยยังไม่ได้เริ่มอะไรเลย เอาไว้ฉันจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเดินทางเต็มๆ ในฉบับต่อไปนะ แล้วไว้เจอกัน

Huakee
4 พ.ย. 48







Sand Dune ที่เมือง Meisaeed ทางตอนใต้ของกรุงโดฮา













บริเวณในเขตอุตสาหกรรมที่เมือง Ras Laffan จะเป็นโรงงาน และที่เห็นส้มๆ นั่นคือท่อส่งก๊าซ เสียดายที่วันนั้นลมแรงไปนิด เลยภาพไม่ชัด













Rock Formation บริเวณทางไปทิศตะวันตก เกิดจากการรวมตัวกันของหินดินทรายต่างๆ ที่ถูดพัดมา














สุดเขตแดนตะวันตกที่เมือง Dukhan















บริเวณที่เชื่อมต่อกับชายแดนซาอุฯ ที่เห็นคือด่าน ตรวจคนออกเมือง


Wednesday, November 02, 2005

เกียรติของคน ต้องขุดเอง


ผมเพิ่งได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่อง "มหาลัยเหมืองแร่" จากแผ่นวีซีดีที่ส่งมาจากเมืองไทย นับว่าเป็นหนึ่งในหนังที่ผมรอชมมากที่สุดในปีนี้ (นอกเหนือจาก Star Wars Episode III ) ด้วยเหตุผลสองประการ คือ ผมประทับใจเรื่องนี้เมื่อครั้งได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยศิลปินแห่งชาติ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ และสอง ผมยังจำความรู้สึกที่ผมน้ำตาไหลด้วยความประทับใจในฉากสุดท้ายของหนังเรื่อง " 15 ค่ำ เดือน 11" ที่กำกับโดยคุณจิระ มะลิกุล ได้ดี ดังนั้นความคาดหวังที่ผมมีต่อเรื่องหมาลัยเหมืองแร่นั้นมีอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากผมไม่คิดที่จะตั้งความคาดหวังไว้สูงกับหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานชั้นเยี่ยมของวงการวรรณกรรมไทย เพราะจะต้องมีการดัดแปลง ปรับเปลี่ยน และผิดเพี้ยนไปจากจินตนาการเมื่อครั้งผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ไม่มากก็น้อย

หนังสือรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นจบในตอนจำนวน 142 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับในชีวิตแหมืองแร่กระโสมทิน เดรด จังหวัดพังงา ผ่านมุมมองของเด็กหนุ่มที่ถูกรีไทร์จากรั้วหมาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือตัวอาจินต์นั่นเอง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลิน ได้เรียนรู้ถึงชีวิตคนชั้นแรงงานที่ทำงานอยู่ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับแนวคิด หลักการในการใช้ชีวิตของคนธรรมดาๆ ต่างๆ ที่อาจฟังดูแล้วไม่เลิศเลอหรือสวยหรูเหมือนคำคมต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือรวบรวมคติการใช้ชีวิตของพวกฝรั่ง แต่ก็สะท้อนถึงความเป็นจริง การใช้ชีวิตเพื่อให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดและสามารถต่อสู้กับความยากลำบากต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ผมประทับใจกับหนังสือเล่มนี้อย่างยิ่ง ข้อคิดในการใช้ชีวิต (ซึ่งผมอยากใช้คำว่าการต่อสู้กับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตมากกว่า) ได้สอดแทรกเข้ามาในทุกๆ ตอนของหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ แน่ก็คือเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้

หลังจากที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้จบ ผมเกิดความรู้สึกประทับใจระดับหนึ่ง ในแง่ของการสร้าง ฉากและอุปกรณ์ต่างๆ ต้องขอยกนิ้วให้เลยว่าออกมาได้ดีและคงจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่คนที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อนจินตนาการมากนัก สำหรับในส่วนของบท (ซึ่งหนังไทยเกือบทุกเรื่องมักจะตกม้าตายตรงจุดนี้) ผมขอบอกว่า "สอบผ่าน" การดำเนินเรื่องอาจจะออกมาไม่ค่อยปะติดปะต่อและไหลลื่นมากนัก (ในจุดนี้หากทำได้เนียนกว่านี้ผมว่าหนังเรื่องนี้จะสมบูรณ์อย่างมาก) แต่ผมก็เข้าใจที่ว่าหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยาย การที่จะนำรายละเอียดในนิยายจำนวน 142 ตอนมาใส่ไว้หนังความยาว ไม่เกินสองชั่วโมงนั้นจึงเป็นไปได้ยากยิ่งนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าคุณจิระทำได้ดีในระดับหนึ่งและยังคงความประทับใจที่ปรากฎในนิยายบางส่วนไว้ได้ดี และผมก็เชื่อว่า ณ ตรงนี้คงจะไม่มีใครทำนำหนังสือเรื่องนี้มาทำหนังได้ดีเท่ากับคุณจิระอีกแล้ว สำหรับดาราที่มาแสดงก็ถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่งครับ

ผมอดไม่ได้ที่จะเอาชีวิตของอาจินต์ฯ กับชีวิตผมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากภาวะที่เขาเผชิญเมื่อครั้งไปทำงานที่เหมืองกับภาวะที่ผมเผชิญเมื่อครั้งจากบ้านเกิดเมืองนอนมาทำงานในต่างแดนนั้นช่างมีความละม้ายคล้ายคลึงอยู่พอสมควร ผมต้องจากครอบครัวอันเป็นที่รักมาทำงานในที่ๆ มีแต่คนแปลกหน้า ซึ่งงานต่างๆ ที่ผมทำช่างแตกต่างกับสิ่งที่ผมได้เคยเรียนรู้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ผมต้องพบกับอุปสรรคมากมาย สามารถที่จะรู้สึกได้ว่าตนเองก็เปรียบเสมือนจุดเล็กๆ ของสังคมและพยายามค้นหาวิธีที่จะทำให้จุดเล็กๆ จุดนี้เป็นฟันเฟืองที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้ (ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการค้นหา) ดังนั้นผมจึงชอบคำที่โปรบของหนังเรื่องนี้ว่า "เกียรติของคน ต้องขุดเอง"เนื่องจากผมเป็นอีกคนที่เชื่อว่า การดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ที่ตัวเราเป็นผู้ที่จะทำทุกอย่างให้เป็นผลสำเร็จอยู่ดี

แม้ว่าความประทับใจที่ผมมีต่อหนังเรื่องนี้อาจจะไม่เทียบเท่ากับเมื่อครั้งผมดู "15 ค่ำเดือน 11" ก็ตามแต่ข้อคิดต่างๆ ที่หนังเรื่องนี้ได้นำมาจากหนังสือเพื่อถ่ายทอดให้ผู้ชมนั้น และพยายามจะให้คนดูได้คิดหาวิธีในการใช้ชีวิตเพื่อประสบความสำเร็จนับว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง ก่อนจบผมขอฝากทิ้งท้ายคำคมจากหนังเรื่องนี้อีกประโยคว่า "อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอดทน" ครับ

HK

2 Nov. 05